AIS สานพลังความร่วมมือ โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน - อสม. คว้ารางวัล “PM Awards 2021”นำแอปฯอสม.ออนไลน์ สร้าง Well Being ให้คนไทยในท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม

AIS สานพลังความร่วมมือ โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน - อสม. คว้ารางวัล “PM Awards 2021”นำแอปฯอสม.ออนไลน์ สร้าง Well Being ให้คนไทยในท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม

เอไอเอส โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน และ สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด และ อสม.ในพื้นที่ ร่วมยินดีและภาคภูมิใจหลังคว้ารางวัล Prime Minister’s Digital Awards 2021 ในหมวด Digital Community of the Year สาขา Well being จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มาใช้ในการดูแลและส่งเสริมสุขภาวะทางสุขภาพในภาพรวม ที่เข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม 

นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด (สสจ.) กล่าวว่า “รางวัลนี้เป็นความภาคภูมิใจของคนทำงานทุกคน และยังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดี สร้าง Well Being ให้เกิดขึ้นได้จริงในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดมีประชากรกว่า 1.3 ล้านคน มีบุคลากรด้านสาธารณสุขเพียง 7,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 ยิ่งทำให้พบกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากร แต่ทว่ากลุ่มแนวหน้าที่สามารถทำงานเชิงรุกอย่างอสม.ในพื้นที่ประมาณ 33,000 คน ได้เข้ามาช่วยทำให้การดูแลประชาชนดีขึ้น ซึ่งหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนครั้งนี้ คือ ทักษะที่ดีในด้านการใช้เทคโนโลยีของกลุ่ม อสม. โดยเฉพาะการนำเอา แอปฯ อสม. ออนไลน์ มาปรับใช้ ช่วยให้ อสม.ทำงานได้อย่างคล่องตัว ทั้งการส่งข้อมูลที่เชื่อมต่ออย่างรวดเร็ว การรายงานสถานการณ์ที่แม่นยำ และการนำเอาฟีเจอร์ต่างๆภายในแอปฯมาผนวกใช้ เช่น การคัดกรองผู้ป่วยโควิด ตลอดจนการคัดกรองสุขภาพจิต ส่งผลให้ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถเข้าถึงข้อมูลของการคัดกรองและการติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงตามหลักระบาดวิทยา รวมทั้งสามารถวางแผนการทำงานร่วมกับ อสม.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง เท่าทัน และเท่าเทียม”

นายแพทย์สุพัชร์ศักย์ พันธุ์ศิลา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด กล่าวเสริมว่า “การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ก็สอดคล้องไปกับนโยบายของโรงพยาบาล ที่ต้องการนำดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้ชุมชนดูแลชุมชนในพื้นที่ และเราเองก็ดูแลชุมชนได้อย่างง่ายดาย ครอบคลุม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อีกทั้งยังลด Human Error ทั้งเรื่องข้อมูลตกหล่น หลงลืม หรือผิดพลาด เพราะทุกอย่างถูกเก็บในระบบ สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ นี่คือข้อดีของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสร้างWell Being ให้เกิดขึ้นในระดับชุมชนอย่างแท้จริง พร้อมกันนี้ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลรายงานถึงฝ่ายบริหารระดับอำเภอ และ ระดับจังหวัด กรณีเกิดเหตุพบการแพร่ระบาดกลุ่ม (คลัสเตอร์) ได้อย่างฉับพลันนำไปสู่การเฝ้าระวังได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ปัจจุบัน อสม.ตำบลหัวช้าง อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด มีทั้งหมด 427 คน ดูแล 15 หมู่บ้าน โดย อสม. แต่ละคนจะรับผิดชอบคนละ 10-15 ครัวเรือน ซึ่งการนำทักษะด้านดิจิทัลมาปรับใช้กับ แอปฯอสม.ออนไลน์ ทำให้การทำงานเป็นไปในเชิงรุก ยิ่งมีการใช้ฟีเจอร์สำคัญอย่างการคัดกรองโควิด ที่เน้นติดตามคนที่มาจากต่างพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังใช้ฟีเจอร์คัดกรองสุขภาพจิตได้มากกว่า 6,000 คน ช่วยให้ภาพรวมการดูแลสุขภาพจิตประชาชนเป็นไปได้อย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ”

นางกริชติยา ธรรมวัตร ประธาน อสม.โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด กล่าว่า “เราเริ่มใช้แอปฯอสม.ออนไลน์กันมาแล้วกว่า 2 ปี ซึ่งแอปฯนี้เข้ามาช่วยเก็บข้อมูลและติดตามดูแลประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังลดขั้นตอนการทำงานจากเดิมที่ต้องใช้เวลาในการลงพื้นที่ จดในกระดาษ แต่เดี่ยวนี้พิมพ์ลงไปในจอโทรศัพท์แปปเดียว โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ทางแอปฯมีการพัฒนาฟีเจอร์คัดกรองผู้ป่วย ซึ่งเข้ามาช่วยการทำงานได้เยอะ ตั้งแต่การประเมิน บันทึกผลการตรวจ และส่งผลไปยังโรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล หรือ ฟีเจอร์คัดกรองสุขภาพจิต จะมีแบบประเมินตนเอง ทำให้ อสม. ช่วยประเมินสุขภาพเบื้องต้นได้ หากพบว่าเข้าข่ายก็ส่งข้อมูลไปยังโรงพยาบาลเพื่อดำเนินการรักษาได้ทันที ทำให้เราดูแลคนในพื้นที่ได้มากขึ้น ถือว่าเป็นเครื่องมือเชิงรุกที่ช่วยดูแลสุขภาพองค์รวมได้อย่างดี”  

นางสายชล ทรัยพ์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “ผลสำเร็จในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดพลังของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ในพื้นที่ รวมถึงโรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน และ สสจ. นี่เป็นตัวอย่างของการบูรณาการที่สมบูรณ์แบบ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ตั้งต้นของเอไอเอส ที่ต้องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับผู้คน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา เราร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน อสม. ออนไลน์ อย่างต่อเนื่องผ่านการลงพื้นที่เพื่อค้นหา Pain Point จากนั้นนำมาพัฒนาเป็นฟีเจอร์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.ให้สามารถส่งเสริมและสร้างสุขภาวะมวลรวมด้านสุขภาพของคนไทยได้อย่างทั่วถึงในทุกท้องถิ่น

วันนี้ แอปฯ อสม.ออนไลน์ มี อสม.ใช้งานเป็นประจำแล้ว กว่า 500,000 ราย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยฟังก์ชั่นที่ถูกออกแบบอย่างสอดคล้องกับเป้าหมายการดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งการคัดกรองโควิด, การสำรวจสุขภาพจิต, การติดตามสถานการณ์ลูกน้ำยุงลาย บ่อเกิดไข้เลือดออก รวมถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพต่างๆ ที่นอกจากจะทำให้การทำงานของ อสม.คล่องตัวแล้ว ยังทำให้การประเมินภาพรวมของคุณภาพชีวิต หรือ Well Being ของประชาชนในพื้นที่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

กล่าวโดยสรุปได้ว่า รางวัลดังกล่าวนี้ เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า การนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำและทำให้ประชาชนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะท้องถิ่นเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความยั่งยืนด้านการทำงานให้กับ อสม. ได้อย่างเป็นรูปธรรม ฉะนั้นการเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้บุคลากรทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคสาธารณสุข ที่ต้องทำงานในพื้นที่ มีเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพมาช่วยให้ภารกิจดูแลสุขภาพคนไทยในวันนี้สร้างความเท่าทัน ได้อย่างทั่วถึงและเกิดความเท่าเทียมได้อย่างเป็นรูปธรรม

ข่าวเกี่ยวข้อง